ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบผู้ผลิตในประเทศมากขึ้นทุกขณะ รายใดสายป่านสั้น ทุนไม่หนาพอ และไม่สามารถทนรับการแข่งขันที่รุนแรงได้ก็ยกธงขาวปิดกิจการไปก่อน เปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพิ่ม ขณะภาพรวมผู้ประกอบการไทยเวลานี้มีการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยรวมกันไม่ถึง 30% ของกำลังการผลิตโดยรวม
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่เป็นฉบับแรก ถึงทิศทางภาพรวมและสถานะที่น่าเป็นห่วงของอุตสาหกรรมเหล็กไทยนับจากนี้
การใช้กำลังผลิตเหลือแค่ 29%
นายบัณฑูรย์ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ณ เวลานี้ คือ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ตํ่ามาก โดยปี 2566 การใช้กำลังการผลิตโดยรวมเฉลี่ยเพียง 31.22% หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป มีโอกาสสูงที่จะมีโรงงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ต้องปิดตัวลงอีก โดยภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กไทยผู้ผลิตส่วนใหญ่มีผลประกอบการยํ่าแย่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2565 มีสาเหตุหลักจากดีมานด์ในประเทศไม่เติบโต ขณะที่มีการแข่งขันสูงจากสินค้าเหล็กนำเข้า เฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ที่มีการทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ การใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพียง 29.96% เท่านั้น ถือตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ และบริษัทที่มีสายป่านไม่ยาวพอก็จะต้องปิดตัวลง จะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลการศึกษาของ SCB EIC (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์) ระบุทุก ๆ 1 แสนตันที่ผลิตเหล็กลดลงจะกระทบ GDP ลดลง 0.19% และการจ้างงานลดลง 1.2%
แนะยืดเวลาห้ามตั้ง/ขยายเหล็กเส้น
ที่ผ่านมาสมาชิกกลุ่มอุตสาห กรรมเหล็กร่วมกับ 10 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กไทย ได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และบีโอไอ เพื่อสื่อสารให้ทราบสถานการณ์วิกฤตที่กำลังเป็นอยู่ และด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง จากกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่มาก ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าเข้ามาทุ่มตลาดเพิ่มขึ้น การใช้กำลังการผลิต 70% ในทันที เป็นไปได้ยากมาก
ทั้งนี้ได้เรียกร้องขอการสนับสนุนจากรัฐ โดยหลักคือ 1.มาตรการห้ามตั้ง / ขยายโรงงาน โดยขอให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการฯ กรณีเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือนมกราคมปี 2568 และเพิ่มการบังคับใช้มาตรการฯ กรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตไม่ถึง 30% และยังมีโรงงานใหม่อยู่ระหว่างก่อสร้างคือโรงงานซินเคอหยวนที่จะเพิ่มกำลังผลิตอีก 5.6 ล้านตันต่อปี
2.การใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าเหล็กที่ทุ่มตลาด ทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AC) การตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการ Safeguard กรณีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ
3.การบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เพื่อควบคุมคุณภาพและส่วนประกอบของสินค้าเหล็กเคลือบโลหะผสม และเหล็กโครงสร้าง Pre-Fabrication เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งหากมีการแข่งขันด้วยมาตรฐานสินค้าที่ทัดเทียมกัน ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
จีนครองส่วนแบ่งการผลิตโลก 55%
นายบัณฑูรย์ กล่าวถึงกรณีเหล็กจีนตีตลาดว่า มีผลกระทบมากต่ออุตสาหกรรมเหล็กโลก จากตัวเลขการผลิตในปี 2566 การผลิตเหล็กดิบทั่วโลกที่ปริมาณ 1,850 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 1,019 ล้านตันเป็นการผลิตจากประเทศจีน หรือมีส่วนแบ่งกำลังการผลิตมากกว่า 55% เรียกได้ว่ามีอำนาจในการแข่งขันสูงมาก
ในปี 2566 จีนส่งออกเหล็กสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปีที่ 90 ล้านตัน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศลดลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปริมาณการส่งออกมหาศาลของจีนนี้ มีอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เป็นเป้าหมาย แม้ไทยจะมีมาตรการ AD เช่นในกรณีเหล็กแผ่นรีดร้อน การนำเข้าในปี 2565-2566 ก็ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยการหลบเลี่ยงมาตรการ AD โดยเติมโลหะผสมลงไปในเหล็กเพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีพิกัดศุลกากรที่ไม่ต้องเสียอากร AD ทำให้ภาครัฐสูญเสียอากรที่ควรเรียกเก็บได้ และยังคงมีการทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมในประเทศ
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องการมาตรการที่รวดเร็วจากรัฐบาล เช่นเดียวกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ได้ประกาศใช้มาตรการเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศของตนจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากเหล็กนำเข้า
หวังงบปี 67ช่วยกระตุ้นใช้เหล็ก
สำหรับภาพรวมตลาด จากข้อมูลสถาบันเหล็ก ในปี 2566 ไทยมีความต้องการใช้เหล็กในประเทศ 16.3 ล้านตัน แบ่งเป็นเหล็กทรงยาว 6.2 ล้านตัน และเหล็กทรงแบน 10.1 ล้านตัน และคาดการณ์ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศปี 2567 เท่ากับ 16.8 ล้านตัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมฝากความหวังไว้ที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่รวดเร็ว เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้เหล็กในประเทศ
อย่างไรก็ตามในปี 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และเศรษฐกิจโลกยังคงทรงตัวหรือถดถอยในบางภูมิภาค โดยรวมน่าจะยังไม่เอื้ออำนวยกับอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดีมานด์ในประเทศจีนยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่ยอมปรับลดกำลังการผลิต จะทำให้มีการส่งออกในปริมาณมากขึ้นจากจีน และกดดันราคาเหล็กในภูมิภาคต่อไป
พันธกิจสำคัญหลังรับตำแหน่ง
การเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และพันธกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมวาระ 2567-2569 คือมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมีพันธกิจ 1.ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (ESG) เพื่อเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ
2.สื่อสารข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กที่แม่นยำ เชื่อถือได้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ให้กับภาครัฐ ภาคสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสม่ำเสมอ 3.สนับสนุนแผนอุตสาหกรรมเหล็กยั่งยืน (Steel Industry 4.0) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 4.ร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมของสมาชิกกลุ่มฯ สำหรับมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Decarbonization 5.เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกในกลุ่มฯ และระหว่างกลุ่มฯ และสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน นายบัณฑูรย์ กล่าว
แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
สามารถสั่งซื้อสินค้าสลักภัณฑ์ น็อต สกรู คุณภาพสูง ได้มาตรฐาน ได้ที่ตัวแทนจำหน่ายสินค้า แบรนด์คาสโต้ ทั่วประเทศไทย หรือสามารถติดต่อเราได้เลยผ่านทาง https://www.kastotrade.com/contact