แชร์

สกรูเปลี่ยนชีวิต...เทคนิคใหม่พิชิต "กระดูกทับเส้นประสาท"

อัพเดทล่าสุด: 7 ก.พ. 2025
134 ผู้เข้าชม

พูดถึงโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หลายคนอาจจะรู้สึกหมดหวังที่จะหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในระยะเวลาสั้นๆ แม้ว่าจะมีการผ่าตัดที่ได้ผลดี แต่ก็มีเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างที่บางครั้งการผ่าตัดไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยโรคนี้ทุกราย

ล่าสุด...มีข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท...เมื่อ ฝ่ายออร์โทปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ สกรูเหล็กชนิดใหม่ ผสมผสานกับ เทคนิคใหม่ ทำให้การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทกลายเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูก

ผศ. (พิเศษ) นพ.นรา จารุวังสันติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่มีมานานแล้ว ซึ่งในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะต้องใส่เหล็กเข้าไปดามร่วมด้วยทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ เพราะต้องถ่างปากแผลให้กว้างพอสำหรับการนำเหล็กดามเข้าไปยังบริเวณที่เส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังกดทับไว้ รวมถึงต้องเลาะเนื้อเยื่อออกแนวด้านข้างทำให้เกิดการบาดเจ็บมาก และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังหลายๆข้อกดทับเป็นบริเวณกว้าง แผลผ่าตัดก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น การผ่าตัดจึงทำให้ร่างกายของผู้ป่วยบอบช้ำมาก เสียเลือดมาก และต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานจึงจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ


 

ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยที่สุด และสามารถฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด นพ.นรา จึงได้ศึกษาค้นคว้าจน กระทั่งสามารถประยุกต์ผสม ผสานเทคนิคการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง รพ.จุฬาลงกรณ์ บอกว่า หลักการของเทคนิคใหม่นี้คือ การประยุกต์ใช้โลหะชนิดใหม่ที่เรียกว่า Cortical Screw สกรูเหล็กที่ในต่างประเทศได้นำมาใช้เพื่อการดามหรือยึดกระดูกสันหลังส่วนที่แข็ง เช่น ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและกระดูกบาง โดยนำ Cortical Screw มาประยุกต์ใช้กับการรักษาโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นครั้งแรก ทดแทน Pedicular Screw ที่ศัลยแพทย์โรคกระดูกสันหลังใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน



 

โดยวิธีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่นี้จะใช้ Cortical Screw ใส่เข้าไปใน ตำแหน่งใหม่ ใกล้กับโพรงเส้นประสาท โดยวางตัวชิดแนวกลางมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ปากแผลมีขนาดลดลงเหลือเพียง 4 เซนติเมตร จากเดิมที่แพทย์ต้องผ่าตัดเปิดปากแผลให้กว้างอย่างน้อย 8 เซนติเมตร

สำหรับการผ่าตัดบริเวณกระดูกสันหลัง 1 ข้อ ขณะเดียวกันด้วยปากแผลขนาดเพียง 4 เซนติเมตร เพียงแผลเดียวแพทย์สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องและนำสกรูเหล็กเข้าไปดามได้ โดยมีการเลาะเนื้อเยื่อน้อยมากและเสียเลือดน้อยมาก ร่างกายผู้ป่วยจึงได้รับบาดเจ็บ บางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือแทบไม่เสียเลือดเลย บางรายสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังฟื้นขึ้น จากเดิมที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลมากและต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายอย่างน้อย 2 วัน จึงจะสามารถเริ่มลุกได้

ลักษณะพิเศษของ Cortical Screw คือมีขนาดเล็กกว่า Pedicular Screw แต่มีความแข็งแรงมากกว่าถึง 1.5 เท่า จึงสามารถช่วยตรึงหรือดามกระดูกสันหลังของผู้ป่วยไว้ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเหมือนกับการดามด้วย Pedicular Screw

 


 
นอกจากนี้ ระหว่างการผ่าตัดจะใช้วิธีเชื่อมกระดูกในตำแหน่งข้อฟาเซต (Facet Joint) ที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลังใกล้กับจุดที่ต้องเลาะเส้นประสาท แล้วเติมสารทดแทนกระดูกที่เรียกว่าสาร Demineralized Bone Matrix (DBM) เพื่อให้กระดูกเชื่อมต่อกันเร็วขึ้น ซึ่งข้อดีของการใช้เทคนิคนี้ทดแทนการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคือ นอกจากจะช่วยลดการเสียเลือด ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังย่นระยะเวลาในการผ่าตัดให้น้อยลงกว่าเดิมถึงเท่าตัว และยังทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงและหายเร็วขึ้น อีกทั้งผู้สูงวัยก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ด้วย

จากการติดตามผลหลังการผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้วอย่างน้อย 15 ราย พบว่า ในผู้ป่วยทุกรายกระดูกสันหลังเชื่อมต่อกันได้ดี สกรูเหล็ก Cortical Screw ยึดติดแน่นและโพรงประสาทบริเวณกระดูกสันหลังขยายได้เทียบเท่าปกติ

ทั้งนี้ โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆของกระดูกสันหลัง ถือเป็นปัญหาของคนยุคใหม่ โดยมีสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมตามวัย พฤติกรรม หรืออุบัติเหตุ ฯลฯ โดยอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรค เช่น อาการปวดร้าว ชาบริเวณหลัง ฯลฯ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที.

 
ที่มา : ไทยรัฐ ออนไลน์ วันที่ 3 ส.ค. 2562 05:05 น.


บทความที่เกี่ยวข้อง
การจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก อาจส่งผลให้ราคาเหล็กพุ่งสูงขึ้นในปี 2025
ราคาเหล็กในปี 2025 อาจจะสูงกว่าปีที่แล้วมาก หากมีการกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กที่จะมีการเสนอใช้ภายในสิ้นเดือนหน้า(กพ.) หน่วยงาน rating agency Crisil กล่าว โดยราคาในประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องจากราคาเหล็กทั่วโลกลดลง และคาดว่าจะยังคงอ่อนตัวในปี 2025 โดยราคาอาจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4-6 ขึ้นอยู่กับการดำเนินการตามมาตรการ safeguard duty
6 ก.พ. 2025
เหล็กไทย วิกฤต ใช้กำลังผลิตตํ่าสุด สภาพคล่องต่ำ จ่อปิดเพิ่ม
อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังอยู่ในอาการที่น่าห่วง จากต้องต่อสู้กับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากเหล็กนำเข้าที่โหมกระหนํ่าเข้ามาตีตลาดอย่างไม่ขาดสาย มีทั้งเหล็กคุณภาพดีและเหล็กไม่ได้มาตรฐานปะปนมาขายในราคาตํ่า
20 พ.ค. 2024
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2566 ไตรมาส 1 การผลิตหดตัวทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาวและทรงแบน
กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 จากการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน  แหล่งที่มา : สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
17 ส.ค. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy